วางใจอย่างไรท่ามกลางวิกฤติภัย COVID-19 : พระไพศาล วิสาโล

คลิปอื่นที่น่าสนใจ:
ภาวนาอย่างไรให้ห่างไกล จากวิกฤติใจ โควิด:
https://youtu.be/TpDB6L51czc

ธรรมบรรยาย โดย พระอาจารย์ไพศาล วิศาโล
“วางใจอย่างไร ท่ามกลางวิกฤตภัย COVID-19”
(สถาบันอาศรมศิลป์ 12 มีนาคม 2563)

ดาวน์โหลดเฉพาะไฟล์เสียง : https://archive.org/details/covid19

พระอาจารย์ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนเรากับเชื้อโรค โดยให้ข้อเท็จจริงว่า จากโรคที่เคยระบาดมาก่อน อย่าง SARS หรือ MERS กราฟการติดต่อพุ่งขึ้นแล้วก็ลง เพราะคนมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น

ขณะนี้ทั้งโลกกำลังพยายามควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ให้ถึงจุดพีคช้า พีคไม่สูง (เพื่อวางแผนรองรับการรักษาให้มีประสิทธิภาพ) และค่อยๆไต่ระดับลงจนหมดการแพร่ระบาด อาจใช้เวลา 6-12 เดือน โดยคาดการณ์ว่าจะมีการติดเชื้อเป็นจำนวน 25-75% ของประชากรทั้งหมด

ข้อมูลนี้เพื่อการเตรียมตัว มิใช่ให้ตื่นตระหนก เราจึงต้อง ’วางใจ’ คือ ‘ไม่ประมาท – ไม่ประสาท’
หากประมาท …จะกลายเป็นคนแพร่เชื้อให้คนที่เรารักและขยายไปอย่างกว้างขวาง
หากประสาท …จะสร้างปัญหารุนแรงกว่าประมาท จะสร้างความทุกข์ให้ตัวเองและคนอื่น เพราะตื่นตระหนก หวาดวิตก ‘กลัว’

ตอนนี้ความกลัวแพร่ระบาดไปกว้างมาก น่ากลัวกว่าเชื้อโรคเสียอีก ความกลัวทำให้เกิดความรังเกียจเหยียดหยามกันในสังคม เช่น ที่อิตาลีรังเกียจคนเอเชีย มองคนอื่นสูญสิ้นความเป็นมนุษย์ ทำให้ความเป็นมนุษย์ในตัวหายไปด้วย ขาดความเห็นอกเห็นใจ ขาดความชื่นชมในความเสียสละของคนที่ไปช่วยดูแลผู้ติดเชื้อ ความกลัวจึงกัดกร่อนความเป็นมนุษย์ไป

เมื่อปล่อยให้ความกลัวครอบงำ ยิ่งทำให้เราซ้ำเติมสถานการณ์ให้หนักขึ้น เช่น การกักตุนหน้ากากโดยไม่ป่วย ทำให้คนที่เป็นหวัด หวัดใหญ่ วัณโรคไม่มีหน้ากากใช้ คนจึงยิ่งตายมากขึ้นจากโรคดังกล่าว กักตุนเกิดจากความกลัว เอาเฉพาะตัวรอด

การปฏิบัติตัวให้ถูกต้องก็สำคัญ คือฝึกสติ ให้มีสุขนิสัยใหม่ ไม่เอามือไปสัมผัสใบหน้าโดยไม่รู้ตัว ซึ่งสำคัญกว่าการใส่หน้ากากเสียอีก เราจึงต้องมีสติรู้ ไม่เผลอเกาหน้า เสยผมก่อนล้างมือ หากมีสติดี แค่ยกมือก็รู้ตัว รู้ใจเมื่อตื่นตระหนกตกใจ

พระอาจารย์พูดถึงเรื่องสติ จึงยกตัวอย่างและชื่นชมสติของครูที่ทำให้นร.ในรร.สอนภาษาอังกฤษที่ห้างเทอมินอล21 ปลอดภัยจากเหตุยิงกราดที่โคราช เมื่อเกิดวิกฤตครั้งนั้น การคุมสถานการณ์ไม่ให้เกิดความวุ่นวาย และดูแลจิตใจของเด็กๆ ท่ามกลางความวุ่นวายได้อย่างมีสติ มีการพาเด็กเล่นเกมส์ในห้องเก็บของ เล่านิทาน จนเด็กวางใจและอยู่ในความสงบ

ดังนั้นไม่ว่า เหตุการณ์จะยืดเยื้อ ร้ายแรงเพียงใด ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการมีสติ ขณะนี้ยังมีเวลาเตรียมตัว เตรียมการ โดยฝึกสติ สร้างสุขนิสัยใหม่ และไม่ใช่เอาเฉพาะตัวรอด

โรคติดเชื้อเป็นปัญหาที่เราหนีไม่พ้น เหตุการณ์ปัจจุบันนี้เป็นอุทาหรณ์ว่าจะรับมืออย่างไร ทำให้เราไม่ประมาท เพราะเชื้อโรคอยู่คู่กับมนุษย์ เช่นเดียวกับความทุกข์ เชื้อโรคอยู่กับมนุษย์ฉันใด ความทุกข์ก็อยู่กับมนุษย์ฉันนั้น หากเรามีภูมิคุ้มกันดี เชื้อโรคก็ทำอะไรเราไม่ได้ ในทำนองเดียวกัน ความทุกข์นั้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต หากเรามีภูมิคุ้มกันรักษาจิตใจ เราก็อยู่ได้ ‘ภูมิคุ้มใจ’สำคัญที่ทำให้เราผ่านทุกข์ได้ นั่นคือ สติ เปรียบเป็นทหารหรือยามเฝ้าประตูใจ (หรือจิตนคร)

โควิด-19 เตือนใจให้เราเห็นว่า ต่อไปก็จะเจอเชื้ออื่นๆอีกมากมาย สิ่งสำคัญคือภูมิคุ้มกันกาย แม้ล้มป่วย ต่อไปก็จะแข็งแรงขึ้น …เช่นเดียวกัน ต่อไปเราก็จะเจอทุกข์อีกมาก หากมีภูมิคุ้มกันใจ แม้จะเศร้าโศกเสียใจ ต่อไปเราก็จะเข้มแข็งขึ้น

ตอนเกิด SARS ร่างกาย overreact กับเชื้อโรค ภูมิคุ้มกันจึงทำลายเนื้อเยื่อตนเองด้วย ทำให้คนตาย
คล้ายกับความกลัวที่กำลังครอบงำจิตใจ ทำให้เรา overreact ขาดสติ เหมือนลิงที่มือเป็นแผลเหวอะเพราะเกลียดกะปิ พระอาจารย์จึงสรุปว่า เชื้อโรคนี้ยังไม่อันตรายเท่าความกลัวเชื้อโรค

พระอาจารย์ท่านยังได้ฝากทิ้งท้ายไว้ว่า
***อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นกับเราดีทั้งนั้น หากเราเรียนรู้และถอดบทเรียนได้ โรคที่กำลังเกิดนี้ เตือนใจให้ตระหนักว่าเราต้องอยู่กับมันไปอีกนาน แล้วมันจะผ่านพ้นไป อนาคตเราจะเจอโรคใหม่อีกมาก พึงเตรียมตัวเตรียมใจให้ดี สร้างภูมิคุ้มกันกายและใจให้ทัน***


คำถาม
– คนติดเชื้อเกิดจากกรรม?
ใช่ แต่ไม่ทั้งหมด กรรมคือการกระทำ (ในปัจจุบันไม่ใช่อดีตชาติ) เช่น มะเร็งเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เสี่ยงให้เกิดโรค / ความเครียดความทุกข์เกิดจากกรรมที่เราวางใจไม่เป็น

– ความคิดท้าทายเพื่อเอาชนะธรรมชาติเป็นเรื่องอันตราย?
ใช่ เพราะมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

การกำหนดมาตรการป้องกันโรคต้องใช้ความรู้ มิใช่ความรู้สึกหรือความเชื่อ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *